หูดหงอนไก่นั้นเป็นโรคที่ติดต่อได้แม้ไม่มีอาการแสดงให้เห็นและเป็นโรคไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เราจึงควรเรียนรู้ที่จะป้องกัน ดูแล และรักษาอย่างถูกวิธี
หูดหงอนไก่คืออะไร
หูดหงอนไก่ คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง สามารถเกิดได้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย โดยมีลักษณะที่เห็นได้ชัดคือมีลักษณะขรุขระที่บริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก ไม่มีอาการเจ็บและไม่ได้ส่งผลที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งหูดหงอนไก่นี้สามารถติดต่อได้แม้ว่าจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น และเมื่อเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงดูแลตัวเองให้อาการทุเลาลง
อาการของหูดหงอนไก่
โดยส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการ ในรายที่แสดงอาการก็อาจจะแสดงอาการหลังได้รับเชื้อไม่เท่ากัน บางรายไม่กี่สัปดาห์ บางรายหลายเดือน หรือหลายปีได้ โดยจะมีลักษณะของติ่งเนื้อทั้งแบบเรียบและขรุขระ เป็นตุ่ม รวมถึงผิวบริเวณที่เป็นโรคเปลี่ยนไป ซึ่งโรคนี้จะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บ แต่บางรายอาจมีอาการคันและอักเสบ
อาการของหูดหงอนไก่นั้นหากเกิดขึ้นภายในท้อปัสสาวะ จะทำให้เกิดปัญหาในการปัสสาวะได้ เนื่องจากตัวหูดจะไปขัดขวางการไหลของปัสสาวะและอาจจำมาสู่ปัญหาอื่นๆ ได้ บางรายหากมีเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ปากกับอวัยวะเพศของผู้ที่ติดเชื้อ อาจทำให้เกิดหูดหงอนไก่ที่บริเวณและคอได้ด้วย
สาเหตุของหูดหงอนไก่
หูดหงอนไก่เกิดจากเชื้อฮิวแมน แปปิโลมาไวรัส หรือ HPV ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกนั่นเอง สามารถติดต่อกันทางผ่านการสัมผัสกันบริเวณผิวหนังที่มีเชื้อ และกิจกรรมอื่นๆ ดังนี้
- การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด
- การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- การใช้ของเล่นทางเพศร่วมกัน
นอกจากเชื้อไวรัสเอชพีวีที่เป็นสาเหตุหลักแล้วยังมีปัจจัยอื่นที่อาจทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคหูดหงอนไก่ดังต่อไปนี้
- การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันกับคู่นอนหลายคน
- มีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
- ได้รับเชื้อจากแม่ระหว่างการคลอด
- เริ่มมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- อายุ 30 ปีขึ้นไป
- สูบบุหรี่
การป้องกันหูดหงอนไก่
การป้องกันที่ง่ายที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ด้วยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากเชื้อไวรัสเอชพีวีจะติดต่อผ่านการสัมผัสโดนผิวหนังบริเวณที่มีเชื้อนั่นเอง นอกจากนี้การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีเป็นอีกหนึ่งวิธี ที่สามารถป้องกันได้ทั้งโรคหูดหงอนไก่ และโรคมะเร็งปากมดลูกนั่นเอง
การรักษาหูดหงอนไก่
แม้ว่าหูดหงอนไก่จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสเอชพีวีไม่สามารถกำจัดออกจากร่างกายได้ แต่บรรเทาให้ทุเลาลงได้ ซึ่งวิธีการรักษามีดังนี้
1.การใช้ยา วิธีนี้จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น โดยยาที่เลือกใช้มีหลายชนิด ดังนี้
- โพโดฟีโลทอกซิน PPT ยานี้จะเข้าไปยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ในหูด
- อิมิควิโมด เป็นยาที่ต้องให้แพทย์สั่งเท่านั้น เนื่องจากเป็นยาที่เข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ ซึ่งจะช่วยให้หูดหงอนไก่ทุเลาลง
- กรด TCA ที่มีความเข้มข้น 80-90 % โดยจะทำให้โปรตีนในเซลล์เสื่อมสภาพกลายเป็นเซลล์ตาย ทำให้หูดหลุดออกภายใน 2-3 วัน โดยยานี้มีข้อระวังคือ
- ห้ามใช้กรด TCA หากป่วยด้วยภาวะภูมิคุ้มกันไวเกินหรือเป็นมะเร็งปากมดลูก
- ห้ามซื้อมาใช้เอง ต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น
- ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้กรดTCA
- ระมัดระวังไม่ให้กรด TCA สัมผัสกับเนื้อเยื่อบริเวณอื่นๆ
ผลข้างเคียงการใช้กรด TCA
- ระหว่างใช้ยาจะมีอาการเจ็บ แสบร้อน หรืออักเสบ
- เนื้อเยื่อรอบๆ บริเวณที่รักษาอาจถูกทำลายได้
- ผิวหนังอาจเป็นแผลได้
- เนื้อเยื่ออาจถูกทำลายหรือเสียหายได้
2.การผ่าตัด เหมาะกับรายที่มีหูดหงอนไก่ขนาดใหญ่ ไม่สามารถรักษาด้วยการทายา รวมถึงกรณีที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันไม่ให้หูดหงอนไก่ส่งผลต่อเด็กขณะคลอด